ไม่ดื่มเหล้าแล้วนอนไม่หลับ จะทำอย่างไร

การนอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เราใช้เวลาการนอน 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด โดยความต้องการนอนของคนแต่ละวัยก็มีไม่เท่ากัน ทารกต้องการนอนวันละ 16 ชั่วโมง วัยรุ่นต้องการนอนวันละ 9 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ต้องการนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง โดยในขณะที่เรานอนสมองและร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้ดีขึ้น การนอนที่มีคุณภาพและเต็มที่นั้น เมื่อตื่นนอน สมองของเราจะปลอดโปร่ง สุขภาพดี จิตใจแจ่มใส

ในผู้ที่ดื่มสุรา มักมีเข้าใจที่ผิดๆว่า การดื่มสุราจะช่วยให้นอนหลับได้ แท้ที่จริงแล้วสุราอาจทำให้มึนหรือง่วงได้ในตอนแรกๆเท่านั้น แต่มันจะทำให้วงจร NREM และ REM ผิดปกติไป รวมถึงเมื่อสุราถูกเผาผลาญในร่างกาย (ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง) ก็จะมีคุณสมบัติที่ไปกระตุ้นสมอง ทำให้เราตื่นขึ้น และไม่สามารถหลับต่อได้ ทั้งหมดนี้จะพบในผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณที่มากพอในช่วงระหว่างอาหารมื้อเย็นและก่อนเข้านอน นอกจากนี้แล้ว สุรายังทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัว ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการหายใจขึ้นในระหว่างหลับ ทำให้คนที่ปกติไม่ค่อยจะนอนกรนเท่าไหร่ มีอาการนอนกรนได้ และทำให้คนที่มีปัญหา sleep apnea (การหยุดการหายใจเป็นพักๆ ระหว่างหลับ) ที่มีอาการไม่มาก กลับมีอาการมากได้

นอกจากนี้แล้ว ในผู้ดื่มบางราย การไม่ดื่มสุรา มักทำให้มีอาการนอนไม่หลับตามมา สาเหตุเป็นเพราะ พฤติกรรมการดื่มที่ผ่านมาทำให้สมองเกิดภาวะเสพติดสุราขึ้น เมื่อไม่ได้ดื่มสมองจะเกิดการกระตุ้น ให้เกิดเป็นอาการถอนพิษสุรา โดยอาการนอนไม่หลับก็คือหนึ่งในอาการถอนพิษสุราเหล่านั้น ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ดื่ม และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ดื่มหลายคนไม่สามารถหยุดดื่มได้

ข้อปฏิบัติเมื่อนอนไม่หลับสำหรับผู้ที่หยุดดื่มสุรา มีดังนี้

1. ออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อใกล้เวลาเข้านอน 3 ซม.

2. งดชา กาแฟ หลัง 14.00 น.

3. ไม่ดื่มน้ำ หรือทานอาหารมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด

4. ไม่นอนในตอนบ่าย เพราะจะส่งผลให้การนอนในกลางคืนไม่มีประสิทธิภาพ

5. นอนในห้องที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี

6. ไม่ควรทำงานในห้องนอน ไม่ควรเอาโทรทัศน์ และโทรศัพท์ไว้ในห้องนอนเมื่อหลับแล้ว ไม่ควรปลุก ถ้าไม่จำเป็นมาก

7. เมื่อเข้านอนแล้ว 30 นาทียังไม่หลับ ให้ลุกออกจากเตียง

8. หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เช่น สวดมนต์ อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเบาๆ ฟังเพลงเบาๆหรืออาบน้ำอุ่น

9. ฝึกสมาธิ สวดมนต์ การปฏิบัติธรรม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้หลับได้ดีขึ้น

10. เข้านอนให้เป็นเวลา

11. หากนอนไม่หลับติดต่อกันเกิน 1 เดือน ให้รีบปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม คุณอาจไม่ต้องรอจนอ่อนเพลียหรือร่างกายทรุดโทรมนานเป็นเดือนแล้วจึงไปพบแพทย์ แต่เพียงคุณมีอาการนอนไม่หลับมากกว่า 7 วัน ก็เป็นสัญญาณเตือนได้ว่าคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อสุขภาพของคุณเองได้แล้ว

12. หยุดดื่มสุราอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัดต้นเหตุของวงจรที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ 

 

อ้างอิง 

อาการโรคนอนไม่หลับ. (ม.ป.ป.). ค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2554, จาก http://thehealthwithfitness.blogspot.com/2012/04/blog-post_1254.html

จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง. (ม.ป.ป.). 20 คำถามที่ควรรู้ เกี่ยวกับการนอนของคุณ. ค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2554, จาก http://www.yourhealthyguide.com/article/am-20-question-sleep.html




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th