จิตสังคมบำบัด

1. การบำบัดโดยการเสริมสร้างแรงจูงใจ

การเสริมสร้างแรงจูงใจแบบสั้น (Brief Motivational Intervention)

สามารถทำได้ภายใน 1-4 session session ละ10-60 นาที โดยการบำบัดแบบนี้เป็นการให้ข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลเสียของการติดสุรา โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ดื่มหันมาค่อยๆลดสุรา มากกว่าที่จะหยุดดื่มในทันที  โดยผู้ให้การบำบัดจะอธิบายถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลเสียอื่นๆของการดื่มในระดับที่มากเกินไป และได้รับการจูงใจให้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเขาลง นอกจากนี้ยังอาจเสริมด้วยจุลสารความรู้ หรือการบ้านให้ผู้ป่วยทำในแต่ละ session

Miller and Sanchez ได้เสนอองค์ประกอบพื้นฐานของการให้การบำบัดแบบสั้น เรียกสั้นๆว่า FRAME  ได้แก่

- Feedback (การให้ข้อมูลย้อนกลับ)

- Responsibility (การทำให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบส่วนตน)

- Advice (การให้คำแนะนำ)

- Menu of Strategies (การให้กลยุทธ์ทางเลือก)

- Empathy and Self-efficacy. (การเสริมสร้างศักยภาพในตน)

นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมาย การติดตามผลและระยะเวลาในการติดตาม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาพบว่า การให้การบำบัดแบบสั้น  ให้ผลที่ดีกับผู้ดื่มแบบ alcohol abuse และจากการวิจัยยังพบอีกว่าสามารถช่วยทำให้เกิดการลดลงปริมาณการดื่มได้ในผู้ดื่มจำนวนมาก ทั้งใน ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้สูงอายุและวัยรุ่น

 

การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing)

การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจนี้ สร้างขึ้นจากแนวคิดการมองโลกในแง่ดี และแนวคิดเชิงมนุษยนิยมของ Carl Rogers ที่กล่าวถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะเลือกและเปลี่ยนแปลงความคิดของตนในกระบวนการการรับรู้และเข้าใจศักยภาพในตน (self-actualization)

วิธีการบำบัดแบบนี้ ผู้ให้บำบัดหรือผู้ให้การปรึกษาจะไม่เข้าไปควบคุมหรือบังคับผู้ดื่ม แต่จะกระตุ้นให้ผู้ดื่มรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนไปในทางที่ดีขึ้น 5 เทคนิคที่มักใช้ในการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ มีดังนี้

  1. การฟังอย่างตั้งใจ (Reflective listening)
  2. การพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการดื่ม (Pros and Cons of Change)
  3. การกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตน (Self-efficacy)
  4. การสัมภาษณ์ และการประเมิน (Interview and assessment)
  5. การกระตุ้นให้เกิดคำพูดที่จะเปลี่ยนแปลง (Self-motivational statements)

2. พฤติกรรมบำบัดในคู่สมรส (Behavioral Couples Therapy :BCT)

การบำบัดรักษาโดยวิธีการนี้ใช้สำหรับคู่สมรสที่มีผู้ติดสุรา ซึ่งอาจติดสุราทั้งคู่หรือมีคนใดคนหนึ่งติดสุรา มีบ่อยครั้งที่พบว่าเมื่อคู่สมรสทั้งสองคนติดสุรา ทั้งสองจะมีความพึงพอใจในสัมพันธภาพ และต่างคนต่างไม่สนับสนุนเรื่องของการหยุดดื่ม ยกเว้นเสียแต่ว่า จะมีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นระหว่างทั้งคู่ หรือมีคนใดคนหนึ่งถูกทำร้ายร่างกาย

เป้าหมายหลักของการบำบัดแบบนี้ คือ

  1. ช่วยให้ผู้ดื่มหยุดดื่ม โดยอาศัยครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคู่สมรส เช่น วิธีการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ การแก้ไขพฤติกรรมที่เสริมให้ผู้ดื่มยังคงดื่มอยู่  เป็นต้น

พฤติกรรมบำบัดในคู่สมรส ใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 session รวมระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน โดยในช่วง session แรกๆ จะเป็นการบรรเทาความรู้สึกด้านลบให้แก่ผู้ดื่มและคู่สมรส พูดคุยถึงผลกระทบจากการดื่มที่เกิดขึ้นจากในอดีต และอนาคตหากยังดื่มต่อไป และกระตุ้นพฤติกรรมด้านบวกให้เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส ต่อมาจะมีการสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในแต่ละวัน และวางแผนว่าจะจัดการอย่างไรให้ผู้ดื่มสามารถหยุดดื่มได้ในวันต่อไป นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกด้านบวกต่อกัน เช่น การแสดงการขอบคุณ การชื่นชมในความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นต้น การให้คู่สมรสช่วยดูแลเรื่องการกินยาในกรณีที่ต้องใช้ยาร่วมด้วยในการบัดรักษา และการสร้างข้อตกลงที่คู่สมรสจะไม่พูดคุยถึงเรื่องราวความผิดพลาดในอดีต และแนวโน้มในอนาคตว่าจะสามารถเลิกได้หรือไม่ แค่ไหน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลับไปดื่มซ้ำได้

3. การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกทักษะการแก้ปัญหา (Cognitive-Behavioral Coping-Skills Therapy), (CBST)

จากทฤษฎีของการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด (CBT) การติดสุราถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้ดื่มสุราแล้วได้รับผลในเชิงบวก เช่น มีความสุข ผ่อนคลาย คลายเครียด ก็จะใช้วิธีการดื่มนี้เป็นทางออกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เช่นนี้ต่อไป จนกลายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆจนเกิดเป็นการเสพติด

CBST จะเป็นการบำบัดที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางพฤติกรรมและความคิด ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่ม โดยวัตถุประสงค์หลักของการบำบัดคือเพื่อค้นหาว่าผู้ดื่มใช้สุราเพื่อตอบสนองความต้องการในส่วนใด และให้เขาได้เรียนรู้ถึงทางเลือกอื่นที่จะตอบสนองความต้องการส่วนนั้นโดยไม่ใช้สุรา

ทักษะการเผชิญปัญหาที่จะถูกฝึกในการบำบัดนี้ได้รวมถึงพฤติกรรมหลายอย่าง ที่สำคัญคือทักษะในการจัดการกับตนเอง เป็นการทำให้บุคคลสามารถจัดการกับความรู้สึกในด้านลบของตนได้ เช่น โมโห โกรธ หรือความคิดในแง่ลบอื่นๆ ทักษะการผ่อนคลายอารมณ์ การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังรวมถึงทักษะการปฏิเสธ ในกรณีที่มีบุคคลอื่นมาชวนให้ดื่ม โดยที่ผู้รับการบำบัดจะได้เรียนรู้และฝึกฝนการปฏิเสธที่จะดื่ม แต่ยังคงสามารถรักษาสัมพันธภาพกับบุคคลที่ชวนดื่มและบุคคลอื่นๆได้

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์

 

 

อ้างอิง

Psychosocial Therapy. (2010). Retrieved December 11, 2011, from http://www.alcoholanswers.org/treatment-options/psychosocial-therapy.cfm

 

 

 




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th