เมื่อเสี่ยงต่อการถูกผู้ดื่มทำร้าย

ผู้ที่มีปัญหาการดื่ม อาจเสี่ยงต่อการทำร้ายผู้อื่น เพราะเมาสุราหรือมีอาการทางจิตจากการใช้สุรา  หรือใช้สุราร่วมกับสารเสพติดอื่น ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกผู้ดื่มทำร้าย คุณควรจัดการกับสถานการณ์ ดังนี้

1. ตรวจสอบว่ามีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุรา หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ถ้ามี และไม่มั่นใจว่าปลอดภัย ให้โทรศัพท์เรียกตำรวจ แจ้งว่าบุคคลนั้นมีอาวุธหรือมีอาการทางจิตที่ควรรับการบำบัดรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

2. ไม่ควรใช้กำลังในการยุติความรุนแรง เช่น การชกต่อย หรือผู้มัดผู้เมาสุรา เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลสมควร

3. ไม่สร้างบรรยากาศข่มขู่หรือกดดัน ทำให้ผู้เมาสุรารู้สึกสงบลง โดยการค่อยๆพูดจาด้วยเสียงเนิบ ช้า เบาๆ ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือท้าทาย ใช้คำพูดเชิงบวกแทนคำพูดเชิงลบ กรณีถ้าพูดคุยแล้วไม่สงบ ควรยุติการสนทนา เพื่อทำให้ความรู้สึกของผู้เมาสุรารู้สึกสงบนิ่งแทน

4. ไม่ควรทำสิ่งใดที่เป็นการเบี่ยงแบนความสนใจ เช่น การเปิดทีวี หรือเปิดวิทยุ เป็นต้น

5. ไม่เข้าไปใกล้บุคคลนั้นมากเกินไป เพราะการเข้าใกล้อาจจะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกถูกคุกคาม และเข้าจู่โจมอย่างไม่คาดคิด ซึ่งจะเป็นอันตรายได้ ดังนั้นควรให้มีระยะห่าง หลีกเลี่ยงการจ้องตาหรือการมองตาอย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสบุคคลนั้นในระยะประชิด

6. พยายามบอกให้นั่งลง เมื่อบุคคลนั้นนั่งลงจะทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายและไม่จู่โจมอย่างดุเดือด จะเป็นการดี ถ้าหากนั่งทั้งสองฝ่าย โดยนั่งหันข้างดีกว่านั่งหันหน้าเข้าหากันหรือนั่งเผชิญหน้ากัน ถ้าบุคคลนั้นนั่งแต่ผู้ช่วยเหลือกลับยืน เขาจะรู้สึกว่าถูกคุกคามหรือคิดว่าผู้ช่วยเหลือถือไพ่เหนือกว่า ผู้ช่วยเหลืออาจให้หรือแลกเปลี่ยนบางอย่างเพื่อสร้างความไว้วางใจ เช่น ส่งน้ำ ชา/กาแฟ หรือบุหรี่ให้

7. ไม่พยายามชี้แจงเหตุผลกับผู้ที่มีอาการก้าวร้าว พยายามไม่ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดเพิ่มขึ้น ไม่ควรพูดจาข่มขู่ ตำหนิ หรือตะโกนใส่หน้าที่จะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกโกรธและควบคุมตนเองไม่ได้ เนื่องจากตัวเขาเองมีความตื่นตระหนกจากความหลงผิด จากภาพหลอนหรือเสียงแว่วที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะอาการของผู้ที่มีอาการขาดสุราหรือติดสุรารุนแรง

8. แสดงความเห็นใจต่อความไม่สบายใจ สิ่งที่สำคัญคือผู้ช่วยเหลือจะต้องไม่แสร้งทำว่าอาการหลงผิดหรือเสียงแว่วนั้นเป็นจริงๆ หรือขัดแย้งโต้เถียงว่าไม่ใช่เรื่องจริง

9. หากรู้ตัว​ว่าไม่ปลอดภัย​ และ​อาจถูก​ทำร้ายร่างกาย​ ขอให้​ออกจากตรงนี้​ เพื่อหลีกเลี่ยง​การเผชิญหน้า​ เนื่องจาก​ผู้​ดื่มมีอาการเมาขาดสติ​ ไม่​สามารถ​ควบคุม​ตนเองได้​ เพราะ​ฤทธิ์​ของเหล้าไปกดสมอง​ ทำให้​เกิดความจำเสื่อมชั่วขณะ​หรือภาพตัด (จำเหตุการณ์​ขณะเมาไม่ได้)​ ให้​หนีเอาตัวรอด​ก่อน​ แล้ว​สร่างเมาค่อยมา​พูด​คุยกัน​ ถ้าเป็น​ไป​ได้​ให้อัดคลิป​วิดีโอ​ขณะที่เขาเมา​ แต่เราต้องไม่เอาตัวเองไปเสี่ยง พอสร่างเมาเมื่อไหร่​ ค่อยเปิดให้ดูแบบเชือดนิ่มๆ​ ไม่​ด่าว่าเพราะ​หลักฐาน​ชัดเจน​เรียก​ว่าจำนนต่อหลักฐาน​ แบบนี้จะเถียงไม่ขึ้น​ อย่า​ทำให้​เขากลัวแต่ทำให้​เขา​รู้​สึกผิดและละอายใจ ขอให้​ใช้วิกฤต เป็น​โอกาส​ ในการทำให้​เขา​รู้​สึก​ตัวโดยมองเห็น​ตนเอง​ โดยที่เราไม่กล่าวหา​ แต่จำนนต่อหลักฐาน แบบนี้​ก็​จะเกิดการเปลี่ยนแปลง​ทางจิตใจและพฤติกรรม​ ที่สำคัญคือ​ ญาติไม่ถูกทำร้ายและได้หาทางออกร่วมกัน

10. หลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลนั้นเข้าใกล้เครื่องยนต์กลไกหรือขับขี่ยานพาหนะ บอกว่าจะเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเขาและผู้อื่น

11. หากผู้ดื่มได้กระทำการทำร้ายร่างกาย ควรโทรแจ้งตำรวจ หรือหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ให้มารับตัวผู้ดื่มไปสถานพยาบาล เพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป

 

หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ 

 

 

 

อ้างอิง

เบญจพร ปัญญายง. (2553). คู่มือการปฐมพยาบาลผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา. เชียงใหม่: พิมพ์เดือนดี.




ขออนุญาติรบกวนเวลาของท่าน
ทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า




สถานบำบัด

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) (ภายใต้คณะแพทยศาสตร์)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ อาคารจุฬาพัฒน์ 14
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อประสานงาน
คุณ สุชาครีย์ พิบูลธรรมศักดิ์

โทรศัพท์ : 0830872879, มือถือ : , โทรสาร : อีเมล์ : 1413alcoholhelpcenter@gmail.com, เว็บไซต์ www.1413.in.th